Vernier Caliper

Vernier Caliper
Vernier Caliper วัดชิ้นงานด้วยความละเอียด 0.01mm

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ยกเครื่องงานจะสมบูรณ์ได้ควรจะมี Vernier Caliper

Vernier Caliper

                ตามปกติแล้วการยกเครื่องเกิดจากสองสาเหตุด้วยกันคือ ยกเครื่องเพราะ (ตายตามธรรมชาติ) ถึงอายุที่จะต้องฟื้นฟู และ (ตายผิดธรรมชาติ) ต้องยกเพราะเครื่องพังจากการใช้งานเช่น เครื่องร้อนจัดชาฟท์ละลาย ทั้งสองแบบมีวิธีพิจารณาในการที่จะฟื้นฟูให้กลับคืนดังเดิมได้ต่างกันมากพอสมควรในรายละเอียดปลีกย่อย

               แต่เพื่อไม่ให้ยืดเยื้อก็จะเอามารวมๆ กัน เริ่มต้นที่วิธีการเอาเครื่องออกจากตัวรถ โดยมากแล้วจะใช้ช่างมือรองๆ ลงไป ช่างใหญ่หรือหัวหน้าช่างจะไม่ลงมือด้วยตนเอง งานนี้(เอาเครื่องออก)ดูไม่น่าจะมีอะไรยุ่งยาก สำหรับเครื่องรุ่นเก่าที่ไม่มีระบบ(สายไฟ)ต่างๆ รกรุงรัง แต่กับเครื่องรุ่นใหม่ๆ แล้วงานนี้จะประมาทไม่ได้เลย เพราะช่างมือใหม่มักจะขาดความรอบคอบรัดกุม เช่น สายแวคคัมแตกขาดลุ่ย ปีกเสียบขั้วเสียบสายไฟแตกหัก สายไฟขาด นอตสกรูหล่นหาย เรื่องเล็กๆ พวกนี้ทำให้ช่างใหญ่ หรือช่างมือหนึ่งเหงื่อตกกีบกันมานักต่อนัก เพราะประกอบเครื่องเสร็จแต่เครื่องไม่ยอมติด

                ช่างใหญ่ หรือช่างทีต้องรับผิดชอบงานยกเครื่อง เมื่อเครื่องออกมากองอยู่บนโต๊ะทำงานจะต้องลงมือรื้อชิ้นส่วนด้วยตัวเอง เพราะการลงมือให้เปื้อนด้วยตนเองนั้นจะมองเห็นสาเหตุหรือชิ้นส่วนที่ชำรุดเสียหายพอที่จะวินิจฉัยได้ว่า เครื่องพัง เพราะสาเหตุใด เช่นเปิดฝาครอบวาล์วถอดเพลาราวลิ้นออกมาดูจะพบ ร่องรอย สาเหตุเช่น เพลาราวลิ้นเป็นรอยไหม้ที่สูบสี่ ก็พอจะบอกได้ว่า ระบบน้ำมันเครื่อง หรือการฉีดจ่ายน้ำมันเครื่องมีปัญหา หรือเมื่อเปิดฝาสูบหงายออกดูเห็นคราบ น้ำมันเขม่า ที่หน้าวาล์ว ชิ้นส่วนที่ยังไม่ได้ล้างและถูกถอดรื้อด้วยมือ ทำให้ทำงานง่าย วิเคราะห์สาเหตุ สั่งอะไหล่เตรียมงานได้ง่าย

                จากนั้นก็ต้อง รื้อส่วนบน ออกหมดแล้วแยกเป็นพวกเป็นหมู่เอาไว้ จัดการให้ช่างมือรองล้างเช็ดถูให้สะอาด ช่างใหญ่เองก็ลงมือ รื้อส่วนล่าง คือส่วนเสื้อสูบ เริ่มจาก อ่างน้ำมันเครื่อง ตรวจดูตะกอนน้ำมันเครื่องก้นอ่างว่ามีสิ่งแปลกปลอมอะไรบ้างเช่น เหล็ก ตะกั่ว ทองแดง เศษวัตถุเหล่านี้จะบ่งบอกถึงนิสัยการใช้รถของผู้ใช้ บอกถึงสาเหตุ เบื้องต้นที่จะต้อง ยกเครื่อง ได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว ส่งล้างก็พอดีกับชุดบนล้างเสร็จ ก็เอาชิ้นส่วนเหล่านั้นมาพิจารณาอีกครั้งสภาพ เพลาราวลิ้นปะกับแบริ่งหรือปะกับเพลาราวลิ้น ดูคราบไหม้ การสึกหรอที่ผิดปกติ

               ตรวจเช็กความราบเรียบของหน้าฝาสูบ การบิดเบี้ยวของฝาสูบ การสึกหรอของบ่าวาล์ว ปลอกวาล์ว เกลียวใส่หัวเทียน(เกลียวใส่หัวฉีด และเกลียวใส่เผาหัวในเครืองดีเซล)นอตสกรูทุกตัวโดยเฉพาะนอตฝาสูบ ช่วงบนทั้งหมดถ้าทำได้ครบถ้วนถูกต้องแม่นยำนี่แหละครับที่เป็นที่มาของคำว่า Top overhaul

               ได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วบันทึกไว้ว่าจะต้องทำต้องเปลี่ยน ต้องเจียร ต้องคว้านอะไรบ้าง แล้วกลับไปดูส่วนท่อนล่าง อันเป็นหัวใจของเครื่องอีกครั้งหลังล้างเสร็จ แหวน (Piston ring) ลูกสูบ (Piston) ก้านสูบ (Connecting rod) สลักก้านสูบ (Piston pin) ร่องรอยที่ผิดปกติที่กระบอกสูบ (Cylinder) เพลาข้อเหวี่ยง (Crankshaft) ชาฟท์อก(Main bearing) ชาฟท์ก้าน (Connecting rod bearing) ไม่เว้นแม้แต่ตัวเสื้อสูบ (Cylinder block)

               งานพวกนี้ถ้าจะเอาให้งานสมบูรณ์แบบมืออาชีพกันจริงแล้ว จำเป็นต้องมีมือเครื่องมือเช่น ไมโครมิเตอร์ Vernier Caliper และสเปรย์ฉีดหารอยร้าว (เครื่องดีเซลเครื่องใหญ่ๆ เช่นหัวลาก จำเป็นต้องใช้มาก)

                เป็นไงครับกับกรรมวิธีของช่างในการยกเคื่รอง สัปดาห์หน้าก็ถึงตอนประกอบกันแล้วครับ งานประกอบโดยช่างมืออาชีพต้องมีความเชี่ยวชาญกันมากกว่าหมอผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเลยละครับ แล้วจะว่าให้ฟัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น