Vernier Caliper

Vernier Caliper
Vernier Caliper วัดชิ้นงานด้วยความละเอียด 0.01mm

วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558

ผู้ค้าปรับกลยุทธ์เจาะเฉพาะกลุ่มตลาดอุปกรณ์ พาวเวอร์แบงค์ ชะลอตัว หมดยุคสินค้าแฟชั่น

ตลาดอุปกรณ์เสริมชะลอตัว สวนทางขาขึ้นสมาร์ทโฟน แต่ดีกรีแข่งดุยังทะลุเดือด "ผู้ค้า" ปรับกลยุทธ์เจาะเฉพาะกลุ่ม "ซีแมซ" โหมตลาดฟิล์มกันรอย-กระจกนิรภัย ฟาก "เจนเนอเรชั่นเอส" จับไฮเอนด์ โฟกัส "เคส-หูฟัง" ระบุราคาเฉลี่ยเคสมือถือปรับลดลงถึง 30% หมดยุคบูมสินค้าแฟชั่น "อาร์ทีบี" ลุ้นกำลังซื้อฟื้นปลุกมู้ดจับจ่ายดันตลาดรวมโต 10% ฟากเชนสโตร์ดัง "ทีจีโฟน" เน้นขายผ่านช่องทางออนไลน์

นายพีระศักดิ์ ทองนรินทร์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีแมซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายอุปกรณ์เสริมภายใต้แบรนด์ VOX และ Dr.eye กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตลาดรวมอุปกรณ์เสริมคอมพิวเตอร์ปีนี้มีแนวโน้มลดลงถึง 70% จากจำนวนผู้ที่ใช้พีซี และโน้ตบุ๊กที่หันไปใช้โมบายดีไวซ์มากขึ้น ขณะที่อุปกรณ์เสริมโมบายดีไวซ์ ทั้งแท็บเลต และสมาร์ทโฟนมีแนวโน้มทรงตัว โดยเฉพาะเคส และหูฟัง จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนออกแบบสินค้าที่เน้นรูปลักษณ์สวยงามทำให้การใช้เคสแบบแฟชั่นลดความนิยมลงส่วนหูฟังจะได้เฉพาะกลุ่มผู้ที่ฟังเพลงและกลุ่มคนทำงานเพลง

"อุปกรณ์เสริมที่มีหลากหลายมากขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกไปใช้อุปกรณ์ที่จำเป็นมากกว่าแฟชั่นแต่ที่น่าจะโตมากปีนี้คือกระจกนิรภัยป้องกันหน้าจอทั้งป้องกันหน้าจอแตก และถนอมสายตารวมถึงฟิล์มกันรอย และแบตเตอรี่สำรองอาจโตขึ้น 300% บริษัทเองก็เริ่มหันมาทำตลาดฟิล์มกันรอย, ถนอมสายตา และกระจกนิรภัย เพราะเทรนด์รักสุขภาพยังมาแรง และจะขยายไปยังฟิล์มรถยนต์และอาคารบ้านเรือนด้วย"

โดยปีนี้บริษัทจะรุกตลาดกระจกนิรภัย ฟิล์มกันรอย และแบตเตอรี่สำรองเป็นหลัก ตามด้วยอุปกรณ์เสริมคอมพิวเตอร์ และหมึกพิมพ์ ตั้งเป้ารายได้เฉพาะอุปกรณ์เสริมไอทีไว้ที่ประมาณ 500 ล้านบาท ไม่รวมฟิล์มกันแดดในรถยนต์และอาคารอีก 500 ล้านบาท

ด้านนายสรศักดิ์ วงศ์ชินศรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจนเนอเรชั่นเอส จำกัด ผู้นำเข้า และจำหน่ายอุปกรณ์เสริม เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอุปกรณ์เสริมสำหรับสมาร์ทโฟนในปีนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควร เห็นได้จากยอดขายอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเคส, หูฟัง, สายชาร์จ เทียบกับปีที่ผ่านมา แทบไม่กระเตื้องแต่ยังพอมีช่องว่างทางการตลาดอยู่ในกลุ่มไฮเอนด์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ และปีนี้บริษัทจึงหันมาโฟกัสการทำตลาดกับลูกค้ากลุ่มนี้เป็นหลัก โดยการนำเข้าเคสกันกระแทก และกันฝุ่นเข้ามาทำตลาดสอดรับกับกระแสรักสุขภาพ และการออกกำลังกายของผู้บริโภคยุคใหม่ ขณะที่ผู้นำเข้าสินค้าประเภทนี้ยังมีไม่มาก คาดว่าจะทำให้รายได้เติบโตกว่าปีที่ผ่านมา 20-30%


พาวเวอร์แบงค์
ผู้ผลิตและนำเข้าอุปกรณ์เสริมสินค้า เช่น พาวเวอร์แบงค์

ล่าสุดเซ็นสัญญากับ Urban Amor Gear (UAG) ผู้ผลิตเคสสมาร์ทโฟนจากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเพียงรายเดียว จุดเด่นแบรนด์นี้คือได้การรับรองมาตรฐานอุปกรณ์ทหารอเมริกา และการันตีป้องกันสมาร์ทโฟนไม่ให้แตกเมื่อตกลงพื้น เบื้องต้นจะมีเคสสำหรับไอโฟน 6 และ 6 พลัส ราคา 1,350 กับ 1,550 บาท ตามลำดับออกมา ตั้งเป้ายอดขายรวมไว้ 40,000 ชิ้น ในสิ้นปี จากการทำตลาดผ่านคู่ค้าหลัก ได้แก่ ร้านบีเทรนด์ในห้างสรรพสินค้าในเครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป, ร้านลอฟท์, พาวเวอร์บาย และดีลเลอร์รายย่อย

"ปีนี้ตลาดรวมแอ็กเซสซอรี่ชะลอตัว ถ้าโฟกัสเฉพาะเคสมือถือมีการปรับลดราคาลงจากปีที่ผ่านมา 30% โดยกลุ่มไฮเอนด์จะมีราคาเฉลี่ยที่ 600-700 บาท ขณะที่สินค้าทั่วไปจะมีราคาที่ไม่เกิน 200 บาท ไม่เหมือนช่วงบูมที่รุ่นราคาเกิน 1,000 บาทขายดีมาก แต่การแข่งขันในกลุ่มสินค้านำเข้าค่อนข้างดุเดือด มีสินค้าใหม่ออกมาต่อเนื่อง เราโฟกัสอุปกรณ์เสริมกลุ่มไฮเอนด์จึงเน้นไปที่ลูกค้าในกรุงเทพฯ 80%"

สำหรับตลาดหูฟังยังมีความต้องการสูง เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศไทยเน้นเรื่องแฟชั่น และดีไซน์เป็นปัจจัยหลักทำให้เปลี่ยนอุปกรณ์บ่อย และความต้องการของสินค้าประเภทนี้ไม่ลดลง แม้การแข่งขันจะสูง มีบริษัทนำเข้ารายต่าง ๆ หันไปจำหน่ายสินค้าที่มาจากประเทศจีนมากขึ้น จากเดิมมีแต่ของจากสหรัฐอเมริกา และกลุ่มยุโรป ซึ่งบริษัทเน้นไฮเอนด์เป็นหลักเช่นกัน มีการนำเข้าหูฟังจากประเทศรัสเซีย ราคาหลักหมื่นบาทเข้ามา

ทั้งนี้ บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์เสริมหลากหลายยี่ห้อ แบ่งเป็นเคสสมาร์ทโฟน 6 แบรนด์ ได้แก่ UAG, BMW และ Moshi เป็นต้น, หูฟัง 3 แบรนด์ ได้แก่ Yorbuds, Klipsch และ Fischer Audio รวมถึงปากกาสไตลัสสำหรับวาดภาพ Adonit

นายบรรพต วัฒนสมบัติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ทีบี เทคโนโลยี จำกัด ผู้นำเข้าอุปกรณ์เสริม กล่าวว่า สภาพตลาดรวมที่ชะลอตัวของตลาดอุปกรณ์เสริมในทุกอุปกรณ์ทำให้ผู้ค้าไม่คาดหวังกับการเติบโตของรายได้ปีนี้มากนักคาดว่าคงโตจากปีที่แล้วไม่ถึง10% แต่จากงานไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โป 2015 กลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาพบว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มกลับมา วัดจากยอดขายของบริษัทที่เพิ่มขึ้น 20% ทำให้มั่นใจมากว่าตลาดอาจโตเกิน 10% แต่เทียบไม่ได้กับ 2-3 ปีก่อนที่เติบโตสูงมาก เพราะเข้าสู่จุดอิ่มตัวมาแล้ว

"เราหวังว่าตลาดนี้ยังจะเติบโตอยู่ เมื่อกำลังซื้อเริ่มดีขึ้น ผู้บริโภคจะกลับมาซื้อเคส และหูฟัง โดยเฉพาะกับกลุ่มสินค้าไฮเอนด์ และที่รองรับการใช้งานเกี่ยวกับสุขภาพ น่าจะคึกคักที่สุดจึงมีบริษัทหน้าใหม่เปิดมาเพื่อนำเข้าสินค้าประเภทนี้เกิดขึ้นจำนวนหนึ่ง แต่ต้องดูว่าแต่ละเจ้าจะอยู่ในตลาดนี้ได้นานแค่ไหน อาร์ทีบีเองปีนี้ตั้งเป้าการเติบโตทางรายได้เท่ากับตลาด หรือ 10% จากปีที่แล้ว มีรายได้รวม 400 ล้านบาท มาจากหูฟังแบบมีสาย 40% หูฟังบลูทูท 30%, พาวเวอร์แบงค์ และแวเรเบิลดีไวซ์อื่น ๆ 30%"

กระแสแวเรเบิลดีไวซ์ ที่ทยอยปรับราคาลดลงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตลาดนี้คึกคักขึ้น ขณะที่สมาร์ทโฟน และแท็บเลตแบรนด์ต่าง ๆ เริ่มทยอยส่งรุ่นใหม่ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิมทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นจึงน่าจะนำส่วนต่างนี้มาซื้ออุปกรณ์เสริมไปใช้งานได้ปัจจุบัน"อาร์ทีบี" นำเข้าอุปกรณ์เสริมทั้งหมด 9 แบรนด์ ได้แก่ หูฟังแบบมีสาย ยี่ห้อ Beats และ Phillips, หูฟังบลูทูท Jabra, เคสและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ แบรนด์ Uniq และ Gear 4

นายไพโรจน์ ถาวรสภานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีจี เซลลูล่าร์เวิลด์ จํากัด เจ้าของเครือข่ายร้านค้าปลีก "ทีจีโฟน" กล่าวว่า บริษัทหันไปเน้นการจำหน่ายอุปกรณ์เสริมผ่านช่องทางออนไลน์ บนแอปพลิเคชั่น Tee Gee มากกว่าการทำตลาดผ่านหน้าร้าน เนื่องจากมองว่า ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าด้วยการหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตทำให้การปิดการขายบนแอปพลิเคชั่นทำได้ง่ายกว่า แต่รายได้ของบริษัทมาจากสินค้าประเภทนี้เพียง 10% อีก 90% มาจากการจำหน่ายสมาร์ทโฟน

"ทางร้านมีนำเข้ามาจำหน่ายบ้าง แต่เน้นสมาร์ทโฟนเป็นหลัก ซึ่งตลาดอุปกรณ์เสริมขณะนี้น่าจะเลยจุดสูงสุดมาแล้ว ไม่เหมือนหลายปีก่อนที่เป็นเรื่องใหม่ คนซื้อกันเยอะมาก แม้ราคาจะสูง แต่กลุ่มผู้ที่นำเข้าอุปกรณ์เสริมที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันทั้งการออกกำลังกาย และการทำงาน น่าจะไปต่อได้กลุ่มนี้ราคาคงลดลงไม่มาก โดยเคสระดับไฮเอนด์ยังอยู่ในระดับ 1,000 บาท"

CR : ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น