เมื่อแนวโน้มยอดขายอุปกรณ์ไอทีในตลาดเมืองกรุงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทผู้นำเข้าสินค้าประเภทนี้เริ่มปรับตัวทางธุรกิจ เสนอทางเลือกใหม่ รูปแบบแฟรนไชส์ แบรนด์ "DD2U" รถโมบายล์ขายสินค้าไอทีครบวงจร ลุยตระเวนขายสินค้าถึงกลุ่มผู้บริโภคโดยตรงตามแหล่งชุมชนในพื้นที่ต่างจังหวัดห่างไกล ที่เชื่อว่ายังเป็นตลาดใหม่ มีความต้องการสินค้าอุปกรณ์ไอทีอีกมาก
ผู้จัดการฝ่ายการตลาด |
ภูเบศ โกยวานิช ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ดิจิแลนด์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าที่มาที่ไปของธุรกิจแฟรนไชส์ "DD2U" ให้ฟังว่า บริษัทฯ เป็นผู้นำเข้าสินค้าอุปกรณ์ไอทีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ส่งสินค้าให้ตัวแทนขายทั่วประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีหลังที่ผ่านมามีสัญญาณชัดเจนว่าตลาดสินค้าอุปกรณ์ไอที โดยเฉพาะในเมืองหลวง ยอดขายลดลงชัดเจนและต่อเนื่อง สาเหตุมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากเคยใช้คอมพิวเตอร์ซีพี หรือโน้ตบุ๊กเป็นหลัก หันไปใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตทดแทน
นอกจากนั้น สำหรับกลุ่มผู้ค้าขายสินค้าไอทีโดยเฉพาะรายย่อย ประสบปัญหาเรื่อง "ค่าเช่าพื้นที่" ในห้างสรรพสินค้าไอทีชื่อดังทุกแห่ง ล้วนปรับราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้กำไรแทบทั้งหมดไปจมกับการเสียค่าเช่าพื้นที่ ดังนั้น บริษัทฯ จึงคิดถึงการสร้างตลาดใหม่ๆ ด้วยการเป็นรถที่จะนำสินค้าอุปกรณ์ไอทีไปบริการขายให้ถึงลูกค้าในพื้นที่ โดยเฉพาะตามแหล่งชุมชนในต่างจังหวัดห่างไกล ซึ่งบริษัทฯ เชื่อว่ายังมีความต้องการสินค้าไอทีอยู่อีกจำนวนมาก
"จากที่ธุรกิจอุปกรณ์ไอทียอดขายตกลง ถ้าเรายังทำธุรกิจแบบเดิมๆ คือรอให้ลูกค้าเดินเข้ามาซื้อสินค้าที่ร้าน แนวโน้มจะอยู่รอดยาก ทำให้บริษัทฯ คิดถึงการสร้างตลาดใหม่ ด้วยการลงพื้นที่ เป็นรถร้าน แบรนด์ "DD2U" ย่อมาจาก Digital Direct to you ที่สามารถเคลื่อนย้ายไปขายได้ตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกในประเทศไทยที่มีบริการลักษณะนี้" ภูเบศเสริม
รถสินค้าขาย พาวเวอร์แบงค์ และอุปกรณ์ไอทีครบวงจร |
ทั้งนี้ การลงทุนแฟรนไชส์ DD2U ใช้เงินเบื้องต้นที่ 9 แสนบาท สิ่งที่จะได้รับ ประกอบด้วย 1. รถที่ตกแต่งมาเป็นร้านค้าเรียบร้อยแล้ว 2. ภายในรถวางระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำหน้าที่ทั้งควบคุมสต๊อก บริหารจัดการร้าน วางแผนการตลาด ฯลฯ รวมถึงสื่อสารกับบริษัทแม่ผ่านออนไลน์ครบวงจร และ 3. ภายในรถยังมีสินค้าไอทีพร้อมขายกว่า 300 รายการเต็มคัน พร้อมเริ่มอาชีพได้ทันที
ภูเบศเล่าต่อว่า สินค้าไอทีที่จะนำมาขายในรถร้าน DD2U จะเน้นเป็นสินค้าไอทีราคาค่อนข้างถูก ไม่เกินชิ้นละ 1,000 บาท เพื่อให้ซื้อง่ายขายคล่อง เหมาะกับผู้ซื้อเป้าหมายที่เน้นเป็นตลาดกลางลงไป เช่น เด็กนักเรียน นักศึกษา หนุ่มสาวโรงงาน เป็นต้น โดยในร้านจะมีสินค้าไอทีไว้ให้เลือก กว่า 200-300 รายการ เช่น แฟลชไดรฟ์, พาวเวอร์แบงค์, หูฟัง, เคสมือถือ, เอสดีการ์ด ฯลฯ รวมถึงเสริมด้วยสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตราคาถูก เครื่องละไม่เกิน 1 หมื่นบาท
ในรถจะมี พาวเวอร์แบงค์ และสินค้าไอทีมากกว่า 300 รายการ |
"กลุ่มผู้ซื้อเป้าหมายของผม 90% วางที่ตลาดต่างจังหวัดในพื้นที่ไกลๆ ซึ่งที่ผ่านมาอุปกรณ์ไอทียังเข้าไปบริการไม่ถึง และคนกลุ่มนี้ยังไม่นิยมสั่งสินค้าผ่านออนไลน์มากนัก ทำให้มีความต้องการซื้อสินค้าไอทีอยู่ นับเป็นตลาดใหม่ที่เราต้องการไปบุกเบิก ส่วนตลาดกรุงเทพฯ ผมหวังแค่ 10% เท่านั้น เพราะต้องยอมรับว่าไลฟ์สไตล์ของคนกรุงทุกวันนี้มีทางเลือกและช่องทางซื้อสินค้าไอทีหลากหลายอยู่แล้ว" ผู้บริหาร DD2U กล่าว
สำหรับจุดเด่นของแฟรนไชส์ DD2U นั้น เขาระบุว่า เนื่องจากบริษัทฯ มีประสบการณ์นำเข้าสินค้าไอทีมายาวนาน เป็นพันธมิตรกับบริษัทผู้ผลิตไอทีในต่างประเทศหลายราย ดังนั้น จึงสามารถคัดสินค้าไอทีเกรดดีเข้าวางขายในร้าน DD2U ได้ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด 20-30% ซึ่งข้อดีของการขายเฉพาะสินค้าคุณภาพ ช่วยสร้างแบรนด์ให้ลูกค้าจดจำว่าซื้อจากร้าน DD2U ได้สินค้าไอทีทั้งดี และถูก
ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทันสมัย |
เขาระบุด้วยว่า อีกความน่าสนใจของการขายสินค้าไอที คือกำไรจากการขายปลีกค่อนข้างสูง เฉลี่ยแล้วกำไรประมาณ 100 บาทต่อชิ้น ตัวอย่างเช่น พาวเวอร์แบงค์ ต้นทุนรับจากบริษัทฯ 100 บาท สามารถขายปลีกได้ในราคา 200 บาทขึ้นไป ซึ่งราคาขายปลีกนั้นให้สิทธิ์แก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ตั้งราคาเองตามความเหมาะสมของพื้นที่
ทั้งนี้ จากการสำรวจตลาดของบริษัทฯ หากผู้ลงทุนแฟรนไชส์สามารถขายสินค้าได้วันละ 25 ชิ้น จะสามารถคืนเงินลงทุนได้ในเวลา 3 ปี นอกจากนั้นยังมีรายได้เสริมจากการเป็นตัวแทนของบริษัทฯ รับออเดอร์ร้านค้าไอทีต่างๆ ในท้องถิ่น และได้ค่าบริการในการเป็นตัวแทนรับเครมสินค้าไอทีต่างๆ ไปส่งศูนย์บริการ เป็นต้น ส่วนเงินหมุนเวียนที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบอาชีพนี้อยู่ที่ราว 40,000-50,000 บาทต่อเดือน สำหรับเป็นค่าน้ำมันรถ และทุนหมุนเวียนซื้อสินค้าเติมภายในร้าน
ดูแลการขายด้วยระบบออนไลน์ |
ในส่วนการสนับสนุนแฟรนไชส์นั้น ทางบริษัทฯ จะคอยคัดสรรสินค้าไอทีใหม่ๆ จากทั่วโลกมาเข้าขายร้าน DD2U ทุกๆ 2 สัปดาห์ โดยระบบการจัดส่งสินค้า หากเป็นจังหวัดใหญ่ เช่น เชียงใหม่ บริษัทฯ มีตัวแทนป้อนสินค้าให้อยู่แล้ว แต่หากเป็นจังหวัดเล็กๆ จะส่งไปทางไปรษณีย์ นอกจากนั้น ช่วยเหลือด้านการตลาด ทั้งทำประชาสัมพันธ์สร้างแบรนด์จากส่วนกลาง และโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ เช่น วิทยุชุมชน รถกระจายเสียงในท้องถิ่น ออนไลน์และโซเชียลมีเดียครบวงจร รวมถึงคอยเป็นที่ปรึกษาตลอดการทำธุรกิจร่วมกัน
ตัวอย่างสินค้า พาวเวอร์แบงค์ และสินค้าไอทีภายในร้าน |
สำหรับการดูแลและรักษามาตรฐานแฟรนไชส์นั้น ภูเบศระบุว่า ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นระบบที่ทันสมัย สามารถตรวจสอบได้ครบวงจร ทั้งตรวจนับสต๊อกสินค้า เพื่อควบคุมให้แฟรนไชส์ขายเฉพาะสินค้าที่รับไปจากบริษัทแม่ ไม่ไปนำสินค้าไอทีเกรดต่ำเข้ามาขายใน DD2U ซึ่งจะกระทบให้แบรนด์เสียชื่อเสียง อีกทั้งมีระบบ GPS ตรวจสอบพิกัดได้ว่าแฟรนไชส์วิ่งรถไปขายยังพื้นที่ใดบ้าง และเวลาใดบ้าง ช่วยนำมาพยากรณ์และวางแผนการตลาด รวมถึงมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อความปลอดภัยของแฟรนไชส์ เป็นต้น
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายที่จะมาลงทุนแฟรนไชส์ DD2U นั้น กำหนดว่า 80% เป็นผู้ที่สนใจสร้างอาชีพของตัวเอง และอีก 20% เป็นกลุ่มที่เคยเปิดร้านขายอุปกรณ์ไอทีอยู่แล้ว ต้องการเปลี่ยนมาทำร้านรถเคลื่อนที่แทน โดยผู้จะมาลงทุนต้องมีแผนธุรกิจมาเสนอ เช่น หลังจากซื้อแฟรนไชส์ไปแล้วจะนำรถไปวางขายยังจุดใดบ้าง และในแต่ละจุดที่จะไปวางขายมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายตรงหรือไม่
"เราเชื่อว่าคนที่จะมาลงทุนซื้อแฟรนไชส์ DD2U จะต้องเป็นคนที่รู้จักและชำนาญพื้นที่ของตัวเองดีที่สุด รู้ว่าเมื่อซื้อไปแล้วเขาจะวิ่งรถไปขายยังจุดใดบ้าง โดยเฉลี่ยควรขับไปขาย 4 จุดต่อวัน ซึ่งผู้จะลงทุนจะต้องมีแผนธุรกิจดังกล่าวมาเสนอ เพื่อที่บริษัทจะลงพื้นที่ไปสำรวจพื้นที่จริง ดูความเป็นไปได้ทางธุรกิจ เพราะเราต้องการให้ผู้ลงทุนสามารถอยู่รอดได้ ในขณะที่บริษัทก็ขายสินค้าได้ ประสบความสำเร็จทั้งสองฝ่าย"
ทั้งนี้ แฟรนไชส์ DD2U เพิ่งเปิดตัวเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2558 ที่ผ่านมานี่เอง ขณะนี้มีผู้สนใจเจรจาซื้อแฟรนไชส์ใกล้จะลงตัวแล้วประมาณ 2-3 ราย คาดจะเริ่มออกสู่ตลาดจริงได้ต้นเดือนเมษายนนี้ ส่วนเป้าหมายของบริษัทฯ ภายในปีนี้ต้องการให้มีสาขาแฟรนไชส์จำนวนกว่า 100 คันทั่วประเทศ และหลังจากนั้นจะขยายแฟรนไชส์ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า และลาวต่อไป
CR : ASTV
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น