Vernier Caliper

Vernier Caliper
Vernier Caliper วัดชิ้นงานด้วยความละเอียด 0.01mm

วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ราคาน้ำมันโลกลดลง ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย

ราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมัน

ในวันนี้ข่าวเศรษฐกิจยังมีข่าวดีอยู่บ้างในด้านราคาน้ำมันดิบที่ได้ปรับตัวลดลงแล้วเกือบร้อยละ 40 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ที่เคยอยู่ที่ระดับ 115 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เหลือเพียง 65-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากราคาน้ำมันที่ถือได้ว่ามีเสถียรภาพมากในช่วงเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงภายหลังการประชุม OPEC ณ กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 ที่ประเทศสมาชิก OPEC ซึ่งถือได้ว่ามีสัดส่วนปริมาณการผลิตน้ำมันเกือบร้อยละ 40 ของตลาดน้ำมันโลก ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันลง ซึ่งราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมากนี้จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังประเทศผลิตและส่งออกน้ำมันอื่นๆ เช่น รัสเซีย (ทำให้ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลง) ไนจีเรีย อิหร่าน และเวเนซุเอลา

ราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมัน

ในวันนี้หลายคนคงถามว่า ทำไมราคาน้ำมันถึงลดลง ?
แน่นอนว่าราคาน้ำมันก็เหมือนราคาสินค้าทั่วไปที่จะถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทาน (Demand and Supply) ที่เกิดขึ้นจริง และจากความคาดหวัง (Expectation) ในอนาคต ซึ่งจะเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับทิศทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเชิงโครงสร้างต่าง ๆ เช่น ราคาน้ำมันที่ผันแปรไปตามช่วงฤดูหนาวในซีกโลกเหนือและในช่วงฤดูร้อนในประเทศที่ใช้เครื่องปรับอากาศ หรือหากผู้ผลิตน้ำมันคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง พวกเขาก็จะเริ่มลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่ม ซึ่งจะช่วยเพิ่มอุปทานในระยะเวลาต่อมา ในทางกลับกัน หากราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำจะนำไปสู่การลดการลงทุนทำให้อุปทานของน้ำมันลดลงในช่วงต่อมา

ส่วนการตัดสินใจของ OPEC ก็มีผลต่อความคาดหวังของตลาดได้เช่นกัน เช่น ถ้า OPEC ประกาศลดปริมาณการผลิตก็สามารถส่งผลต่อราคาน้ำมันทำให้เพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งประเทศซาอุดีอาระเบียถือเป็นประเทศสมาชิก OPEC ที่สำคัญ เนื่องจากมีกำลังการผลิตเกือบ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตรวมของกลุ่มสมาชิก OPEC

ราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมัน

ในตอนนี้ นักวิเคราะห์ต่างมองว่ามี 4 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลกให้ลดลง ประกอบด้วย

(1) ความต้องการใช้น้ำมัน (Demand) ที่อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ ประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานจากน้ำมันเป็นพลังงานทดแทนชนิดอื่น ๆ

(2) ปัญหาความวุ่นวายในอิรักและลิเบีย ซึ่งเป็น 2 ประเทศผู้ผลิตน้ำมันขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตรวมกันเกือบ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันของประเทศเหล่านี้

(3) สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก แม้ว่าจะยังไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้ในขณะนี้ แต่ก็นำเข้าน้ำมันลดลงมาก ทำให้เกิดอุปทานส่วนเกินของปริมาณน้ำมันโลก

(4) ซาอุดีอาระเบียและประเทศสมาชิกOPEC ได้ตัดสินใจที่จะไม่ลดปริมาณการผลิตลง เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของตนเอง ซึ่งมีการประเมินว่า อันที่จริงประเทศสมาชิก OPEC สามารถเลือกที่จะลดปริมาณการผลิตลงได้อย่างรวดเร็ว แต่ประเทศเหล่านี้ก็กลัวว่าผลประโยชน์หลักจะไปตกกับประเทศที่พวกเขาอาจจะเป็นศัตรูด้วย เช่น อิหร่านและรัสเซีย

ราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมัน

ในเวลาที่ซาอุดีอาระเบียยังสามารถรองรับต่อราคาน้ำมันที่ลดลงได้ค่อนข้างมาก เพราะมีปริมาณน้ำมันสำรองมูลค่ากว่า 900 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีต้นทุนการผลิตน้ำมันที่ต่ำมาก (ประมาณ 5-6 เหรียญต่อบาร์เรลเท่านั้น)

สำหรับประเทศไทย ราคาน้ำมันที่ลดลงนี้ก็ถือได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยนะครับ เพราะประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน ซึ่งแบบจำลองทางเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังก็ประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ลดลงทุก 1 เหรียญสหรัฐจะส่งผลบวกต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริง(Real GDP) ได้ร้อยละ 0.07 ต่อปี และยังช่วยทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าเราควรใช้โอกาสที่ราคาน้ำมันลดลงนี้ในการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในภาพรวม เพื่อลดการบิดเบือนของโครงสร้างราคาและส่งเสริมให้ภาคการผลิตและภาคประชาชนใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพครับ

CR : ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น